รู้ทันภาษี "คนละครึ่ง"...ข้อคำนึงและแนวทางแก้ไข
ใกล้ถึงช่วงเวลาระทึกของปี.. นั่นคือช่วงยื่นภาษีเงินได้ประจำปี ซึ่งเป็นหน้าที่พลเมืองที่ต้องจัดการระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของทุกปี... ตั้งแต่รัฐบาลมีการทำโครงการกระตุ้นการจับจ่าย ให้ชาวพ่อค้า-แม่ขาย อย่าง โครงการ"คนละครึ่ง" ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดีสำหรับผู้ซื้อ และผู้ขาย แม้จะมีจุดอ่อนในเรื่องการให้สิทธิที่ไม่ทั่วถึง และซ้ำซ้อนบ้างก็ตาม
.
.
สิ่งที่เกิดขึ้นระยะหลัง เมื่อคุณเดินตลาดสดดู จะพบว่าหลายร้านค้ามีการเอาป้ายโครงการออก และปฏิเสธที่จะรับเงินผ่านแอปโครงการ ...สาเหตุหลักเลย คือเรื่องกลัวการถูกสรรพาการ เรียกเก็บภาษีเงินได้ย้อนหลัง ที่แม่ค้าร้านเล็กๆหลายเจ้า ไม่ได้เตรียมใจไว้ ...บางคนถูกเรียกเก็บภาษีก้อนใหญ่ปลายปี หลายหมื่นบาท ...จากการทำความเข้าใจหลายส่วน ผมมีข้อคิด และแนวทางแก้ไขดังต่อไปนี้
.
.
◾ ข้อคิดสำหรับร้านค้าตัวเล็ก...
✔️ ต้องรู้ว่ารับได้เท่าไหร่
เนื่องจากกำไรสุทธิที่ไม่เกิน 150,000บาท/ปี คือกำไรต่อปีมากที่สุดที่คุณจะไม่โดนภาษี... เมื่อคำนวนย้อนหลัง และหักค่าลดหย่อนเรียบร้อยแล้ว = ยอดขายรวมทั้งปีต้องไม่เกิน 525,000บาท
เพราะฉะนั้นร้านค้าที่ร่วมโครงการ จำไว้ง่ายๆว่า สามารถรับเงินผ่านโครงการ คนละครึ่ง "ได้ไม่เกิน 43,750.-/เดือน" (525,000.-/ปี)...หากเกินปุ๊บคุณควรหยุด ถ้าไม่อยากเผชิญการเก็บภาษีย้อนหลัง
.
.
✔️ ต้องเก็บหลักฐานรายจ่าย
เนื่องจากการแสดงรายจ่าย หรือต้นทุนสินค้า สำหรับผู้ค้ารายเล็กนั้นแสดงได้ยากกว่าร้านค้า ที่จดอยู่ในรูปแบบบริษัท หรือหจก. ...ทาง"คนละครึ่ง" จึงใช้กลไกการคิดค่าใช้จ่ายแบบเหมาๆ ที่60% จากยอดขาย เท่ากับว่ากำไรการขายทุกชิ้นอยู่ที่ 40%... ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินจริงไปมาก
ยกตัวอย่างเช่น ร้านโชว์ห่วย ขายของชำเล็กๆ ที่ซื้อสินค้ายกลังมาจากแมคโคร แล้วนำมาขายปลีก ...ทำกำไรต่อชิ้นได้ 5-10%เท่านั้น เมื่อรับการชำระเงินผ่านแอปคนละครึ่ง ซึ่งคิดว่าร้านต้องกำไร 40% จะเสียเปรียบและทำให้เสี่ยงต้องจ่ายภาษีมากเกินความจริง
วิธีป้องกันตัวคือ สำหรับร้านค้าที่มีส่วนกำไรต่อชิ้นน้อย ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทำบัญชี, เก็บใบกำกับภาษีเมื่อซื้อของ, ค่าน้ำค่าไฟ เพื่อสามารถแสดงรายจ่าย-ต้นทุน ของตัวเองได้ทั้งหมด ...เพื่อที่การคิดภาษีจะแม่นยำตามจริง ไม่ถูกอัตราค่าใช้จ่ายเหมาที่ 60% เอาเปรียบ ทำให้ขาดทุนในที่สุด
.
.
◾ แนวทางแก้ไขโครงการสำหรับรัฐบาล...
✔️ หัก ณ ที่จ่าย แทนที่การเก็บตู้มเดียวย้อนหลัง
รัฐบาล ควรปรับเปลี่ยนmechanic กลไกการจัดเก็บภาษี จากการเก็บเงินได้แบบก้อนเดียวตู้ม ย้อนหลัง ไปเป็นการเก็บแบบหัก ณ ที่จ่าย ...ซึ่งเป็นการช่วยพ่อค้า-แม่ค้าตัวเล็ก ในการบริหารค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า เห็นภาพว่ากำไรหลังหักภาษีแล้วอยู่ที่เท่าไหร่ ...เค้าจะได้วางแผนการเงินได้ถูกต้อง ตั้งราคาขายที่ทำให้พวกเค้าไม่เจ็บตัว ...ลดความกังวล เพราะไม่มีภาษีเรียกเก็บย้อนหลังอีก
การหักภาษี ณ ที่จ่าย ช่วงแรกแนะนำให้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 1.5-2% หักจากยอดขาย (น้อยกว่าการหัก ณ ที่จ่ายสำหรับงานฟรีแลนซ์) เพราะการนำพ่อค้า-แม่ค้าเข้าระบบภาษี ต้องค่อยๆออมชอมให้เกิดความเข้าใจ และปรับใช้จริงได้... แถมตัวเลขภาษี 1.5-2% ยังน้อยการค่าบริการโอนเงินบางแอป - ค่าธรรมเนียมการรับชำระบัตรเครดิต ด้วยซ้ำไป ทำให้พ่อค้าแม่ค้า เข้าใจและยอมรับได้