ปรับ-ตัด-ฟ้อง? ..เมื่อรัฐไม่แยแส ทางแก้SMEsคืออะไร

เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เห็นบรรดาสเตตัสในโซเชี่ยล ของเจ้าของกิจการเล็กใหญ่ตัดพ้อพร้อมกัน โดยมิได้นัดหมาย.. ว่าธุรกิจเค้าอาจไม่ได้ไปต่ออีกแล้ว.. หลายคนทำร้านอาหาร ที่สามารถเปิดให้ลูกค้านั่งได้แค่ 1/4, หลายคนทำธุรกิจที่ยังถูกปิดตาย ขยายไปจนสิ้นเดือน, อีกหลายรายผลิตสินค้าและบริการ ที่ลูกค้าไม่มีอารมณ์ซื้อภายใต้บรรยากาศแบบนี้ ..เราอยู่ช่วงเวลาที่แย่เหลือเกิน นอกจากเรื่องโรคภัยระบาดแล้ว สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือความเพิกเฉย ที่รัฐไม่แย่แส ต่อ SMEsเล็กๆทั่วประเทศ จำนวน 7.7แสนกว่าราย

 

ทางเยียวยาเดิมๆที่รัฐหยิบยื่นให้ คือ ซอฟท์โลน เงินกู้ที่พาให้SMEs เป็นหนี้หัวโตมากขึ้น..

การยืดการชำระหนี้ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนช่วย แต่เรื่องจริงก็คือ SMEsต้องจ่ายดอกเบี้ยรายเดือนมากขึ้นอีกด้วย.. จากจำนวนเดือนที่ยืดออกไป

ช่วยตัวเองดูเหมือนเป็นทางออกเดียวของ SMEs

 

ทางแก้ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่

1) ตัดรายจ่ายทิ้ง (Cost cutting) สิ่งที่ผู้ประกอบการทำอย่างแรกคือลดเงินค่าใช้จ่ายประจำ (fixed cost) เช่น ผุ้บริหารงดรับเงินเดือนตัวเอง, ลดรายจ่ายอื่นๆ ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าสังสรรค์, ปรับเงินเดือนลูกจ้างลงชั่วคราว จาก ลด10%… ลด20%… ลด50%… ไปจนถึงให้พนักงานส่วนนึงออก ไม่ว่าทางเลือกไหนล้วนลำบากใจทั้งนั้น แต่เพื่อการคงไว้ขององค์กร เจ้าของกิจการจำเป็นต้องเด็ดขาด

วิธีทำของบริษัททั่วไปคือ หัวหน้าฝ่าย จัดลำดับพนักงานที่มีความสำคัญ ทำการคัดรายชื่อพนักงานที่มีประสิทธิภาพการทำงานต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับฐานเงินเดือน …แล้วทำการตกลงเพื่อจ่ายค่าชดเชย เพื่อlay off ให้พนังานคนนั้นออกจากงาน

 

◾ บริษัท Amazon ยักษ์ใหญ่e-commerce จากอเมริกา ตั้งเป้าlayoffพนักงานในแต่ละแผนกจำนวน 6% ทุกปี เพื่อรักษาพนักงานสกิลสูงที่สุด ให้อยู่ในองค์กรเท่านั้น

◾ผลการศึกษาชั้นนำจาก Harvard Business Review บอกว่าบริษัทที่มีการlayoff พนักงาน มีผลกระทบ ทำให้พนักงานที่ยังอยู่รอดในบริษัท มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงถึง 20%

 

2) ย้ายที่ (Relocate) ย้ายสถานที่ทำงาน-ที่ขายสินค้าไปที่อื่น ให้ค่าเช่าถูกลง หรือลดปริมาณพื้นที่ลงมา ไปจนถึงเลิกเช่าสถานที่ แล้วหันเหไปทำออนไลน์ หรือ Work From Home แบบเต็มตัว

3) วิ่งหาสถาบันเงินกู้ (Request a loan) ข้อนี้ควรระวัง ระหว่างการที่เพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ได้ในช่วงสั้นๆ แต่ก็เป็นเพิ่มภาระหนี้ให้กับธุรกิจคุณขึ้นไปอีก แม้เป็นการกู้ยืม soft loanจากรัฐ ดอกเบี้ยต่ำก็ตาม

4) ปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการใหม่ไปเลย (Adopt the new model).. หลายธุรกิจถือโอกาสพลิกโฉมสินค้าบริการไปเลย เช่นร้านค้าเครื่องสำอางค์หันมาขายแอลกออล หน้ากากอนามัย, ร้านชาบู เปลี่ยนไปขายทุเรียนส่งตรงถึงบ้าน หรือร้านอาหารบุฟเฟต์ที่ถูกห้ามนั่งทานในร้าน ให้พนักงานเดินไปเสิร์ฟลูกค้าถึงที่รถแทน เป็นต้น

5) เลิกกิจการ (Close down) เลิกก่อนเจ็บไปกว่านี้ ปล่อยเซ้ง หรือขายให้นักลงทุนอื่นที่สนใจ แน่นอนราคาไม่ดี แต่ก้ดีกว่าexit แบบไม่ได้อะไร

6) ฟ้อง (Sue the government) รวมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากรัฐต่อศาลปกครอง.. นี่คือวิธีสุดท้าย สำหรับห้างร้านSMEs ที่เสียผลประโยชน์ จากการถูกสั่งปิดจากรัฐ จนนำไปสู่การเลิกกิจการ นำเอาหลักฐานความเสียหายรวมกันให้มากบริษัทที่สุด ย้ำว่าต้องรวมตัวกันให้ได้เยอะที่สุด แล้วทำการร้องเรียนสู่ศาลปกครอง..


 

“ ศาลปกครอง มีอํานาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่าง หน่วยงานของรัฐ กับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อํานาจทางปกครอง การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติ หน้าที่ล่าช้าเกินสมควร การกระทําละเมิด หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง “

 


ดังจะเห็นได้ว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย ยังมีช่องที่จะสามารถร้องเรียนให้ศาลปกครอง ให้เรียกค่าชดเชยจากกรณีที่ หน่วยงานของรัฐปฏิบัติการแก้ไขเรื่องโควิดล่าช้า หรือใช้อำนาจรัฐในการบังคับปิด หรือล๊อคดาวน์ หรือลดเวลาทำการ ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับธุรกิจ โดยมิได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด

 

◾ เมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมา ประเทศสโลวะเกีย ร้านค้าขนาดกลางถึงใหญ่ จำนวน80ร้าน อัตราจ้างพนักงานรวมกันถึง300,000คน รวมตัวกันฟ้องศาลดำเนินคดีกับรัฐบาล เนื่องจากการบังคับล๊อคดาวน์ประเทศเกินกว่าที่ประกาศ จากที่แจ้งว่า 60วัน แต่ปิดจริงรวมเป็น 100วัน.. โดยไม่มีการชดเชยค่าเสียหายใดๆ ..เรื่องกำลังอยู่ในการพิจารณาคดี


◾ ขณะที่ประเทศอังกฤษ เมืองเลสเตอร์ ผู้ประกอบการรวมตัวกัน 10บริษัท เพื่อฟ้องร้องรัฐบาล เรื่องการจัดการบริหารผิดพลาด หลังจากที่รัฐประกาศล๊อคดาวน์อย่างไม่จำเป็น เมื่อเดือนมิถุนาคม ปี2020 ส่งผลต่อผลประกอบการบริษัท และชาวเมืองเลสเตอร์จำนวนมาก สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวที่ซาลง

 

ไม่ว่าเลือกทางไหน ทางผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการทุกท่าน ที่สู้มาจนถึงวันนี้.. ไม่อยากโลกสวยด้วยการบอกว่า เราจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ด้วยกัน.. แต่ไม่ว่าธุรกิจใครยังไหว หรือยืนต่อไม่ไหวไม่เป็นไร เราขอคาราวะใจของคนที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ

SMEsเรา ก็คงต้องสู้ด้วยวิธี “ตัด - ปรับ - ฟ้อง”

เพราะเสียงร้องเราไม่เคยดังไปถึงรัฐบาล

Previous
Previous

“ซอฟท์โลน” ..ช่วยSMEs หรือช่วยไปไกลๆ?

Next
Next

ผลข้างเคียงดีๆ.. ที่วัคซีน มีกับเศรษฐกิจ