ปลุกมนุษยธรรมในตัวคุณ… จาก “โรฮิงญา” สู่ “ตากใบ-กรือเซะ”
เรื่องราวผู้อพยพ #โรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยมุสลิม เชื้อสายพม่า ที่ต้องร่อนเร่ อพยพลี้ภัยสู่ประเทศมาเลเซีย ในปี 2558... กลายเป็นประเด็นตีแผ่สู่สังคม ถึงเรื่องความโปร่งใสของภาครัฐ และการปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างไม่มีมนุษยธรรม …ซึ่งแน่นอนเมื่อสังคมตื่นรู้ ย่อมเป็นเรื่องดี ที่สังคมให้ความสำคัญกับชีวิตเพื่อนมนุษย์ ที่แม้ มิได้เป็นเชื้อชาติ-สายเลือดเดียวกันก็ตาม
.
.
ความเสียหายที่พบ คือ 36 ร่างศพของชาวโรฮิงญา ที่ถูกฝังอยู่ในหลุมศพ บริเวณเทือกเขาแก้ว อ.ประดังเบซา จ.สงขลา.. จากการชันสูตร ส่วนมากเสียชีวิตจากการขาดน้ำ และอาหาร ..สันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นการเสียชีวิตจากการเดินทางบนเรืออันยาวนาน หรืออาจเป็นการถูกหน่วงเหนี่ยว มีอันให้ถึงแก่ชีวิตก็ตาม...
.
.
ทำให้ผมย้อนคิดถึง โศกนาถกรรมเก่าเมื่อ18ปีก่อน ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์...
แต่เพื่อนมนุษย์คราวนี้คือ "พี่น้องไทย" เชื้อสายมุสลิม
จาก 2เหตุการณ์รุนแรงที่ #ตากใบ จังหวัด นราธิวาส และ #กรือเซะ มัสยิดใน อ.เมือง จ.ปัตตานี ...ความสูญเสียนั้นหนักหนายิ่งนัก
.
.
◾ 120ศพ จาก 2เหตุการณ์ เป็นผู้เสียชีวิตชาวไทย
◾ 7คน ถูกฆ่าโดยกระสุนจริง ขณะสลายการชุมนุมหน้า สภอ. ตากใบ
◾ 32ศพ ถูกเจ้าหน้าที่ฆ่า ขณะหนีหลบภัยในมัสยิดกรือเซะ
◾ 1,370คน ถูกควบคุมตัวโดยจับมัดแก้ผ้า นอนทับกันบนรถบรรทุก
◾ 85ศพ ตายเพราะขาดอากาศหายใจ ขณะทับกันบนรถ 5ชั่วโมง
และ
◾ 0 เจ้าหน้าที่ ถูกดำเนินคดี จากเหตุการณ์รุนแรงนี้
.
.
ในจำนวนผู้ตาย/ผู้เสียหาย จำนวนมากที่ถูกควบคุมตัว เป็นเพียงชาวบ้าน-ไทยมุงธรรมดา... อย่างนาย มามะรีกะห์ บินอุมา ชาวอำเภอตากใบ ที่เฉียดตายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น.. บอกว่าเค้าไม่มีวันลืม คนบริสุทธิ์ที่ตายต่อหน้าต่อตา เพราะต้องนอนทับกัน 60กว่าชีวิตในรถ 1คัน เป็นเวลา 5ชม. ...หลายคนอุจารระราด, ปัสสาวะราด เพราะขาดอากาศหายใจ แม้ทุกคนจะช่วยพลิกตัวเพื่อให้ร่างคนที่ถูกทับด้านล่าง ได้อากาศบ้าง... แต่ก็ดูเหมือนสายเกินไป
.
.
คำถามทั้งหมดย้อนกลับมาว่า การใช้กำลังทางการทหารสมัยนั้น (ภายใต้ นายกรัฐมนตรี: ทักษิณ ชินวัตร, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด: พล.อ. ชัยสิทธิ์ ชินวัตร, รองผู้อำนวยการกองกำลังความมั่นคงภายใน: พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ) กระทำการต่อประชาชน เกินขีดความเป็นมนุษย์ไปหรือไม่?
.
.
หากท่านเป็นหนึ่งในคนที่เห็นในคุณค่าชีวิตมนุษย์... เห็นว่า "หัวใจคือประชาชน" ที่แท้ทรู ไม่ใช่งูๆปลาๆแบบนี้ ...ท่านคงตระหนักได้ว่า ควรมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพราะชีวิตพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศเรา ถูกปฏิบัติยิ่งกว่าโรฮิงญา ...ราวกับว่ากับไม่ใช่เสรีชนชาวไทย
.
.
ข้อเสนอแนะของผม วันนี้คือ
1) ยกเลิกใช้ "กฎอัยการศึก" 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยทันที
การใช้กฏอัยการศึก เป็นชนวนที่ทำให้เกิดความรุนแรง เพราะเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมใครก็ได้ ถึงหนึ่งสัปดาห์ โดยมิต้องมีหมายศาล (เหมือนเหตุการณ์เริ่มต้น คดีตากใบ)... สิ่งเหล่านี้ นอกจากเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของมนุษย์โดยตรง ยังเป็นการไม่ให้เกียรติชาวบ้านภาคใต้ ทำลายบรรยากาศความผาสุก ในพื้นที่
.
.
2) ใช้เจ้าหน้าที่ ที่มีวัยวุฒิประจำการ
เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ 3จังหวัดภาคใต้ ส่วนใหญ่จะเป็นน้องทหารเกณฑ์ และทหารพราน ที่อายุน้อย... เป็นธรรมดาที่อาจมีอารมณ์โทสะ ทำให้บางครั้งขาดวิจารณญาณ ขณะปฏิบัติหน้าที่... เหมือนที่เกิดขึ้นใน 2 โศกนาฏกรรม ที่เกิดความรุนแรงเมื่อประทะกับชาวบ้านจนเกิดความสูญเสีย ...จึงควรมอบหมายให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร ที่มีอายุงานเกิน 10ปี คอยควบคุมหมู่เหล่าย่อยๆ เพื่อเตือนสติทีมว่า เจ้าหน้าที่รักษาสันติราษฎร์ หน้าที่คือดูแลประชาชน
.
.
3) ใช้เทคโนโลยี แก้ปัญหา
รัฐควรแก้ปัญหาความรุนแรง โดยไม่ใส่ความรุนแรงลงไปเพิ่ม ...แต่เติมเทคโนโลยี ให้ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนร่วมกับตำรวจ-ทหารมากขึ้น... มีเครือข่ายประชาชนที่คอยสอดส่อง รายงานความปลอดภัยโดยตรง กับเจ้าหน้าที่ทางออนไลน์ ...มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ที่สามารถจับหน้าคน แล้วบ่งบอกชื่อ-นามสกุล (Facial Recognition) ลดการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ เท่ากับลดการเผชิญหน้า... แต่คอยจับตาจากศูนย์หลังบ้านอย่างดี
.
.
4) หาคนกระทำผิดมาลงโทษ
ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจะแสดงความรับผิดชอบเพียงทางแพ่ง ด้วยการเอาเงินยัดใส่ผู้เสียหาย... เอาควายแจก พร้อมเงินไม่กี่หมื่น อย่างที่ คุณ มามะรีกะห์ ผู้เสียหาย ที่รอดชีวิตถูกเสนอให้รับ และยอมความในที่สุด... ในความผิดด้านจริยธรรม การกระทำที่ไม่คิดถึงชีวิตชาวบ้านเยี่ยงนี้ ผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ตัดสินใจ ควรถูกรับโทษเพื่อเป็นบรรทัดฐานสังคม
.
.
นี่เป็นเพียงข้อเสนอ จากหนึ่งเสียงประชาชนที่เห็นค่าของชีวิตมนุษย์.. ไม่ว่าเค้าคนนั้นจะเป็นใคร ชาติไหน หรือนับถือศาสนาอะไรก็ตาม...
ขอให้ทุกชีวิตได้รับความเป็นธรรม และขอส่งดวงวิญญาณทุกท่านสู่สุขคติ
"อินนาลิลลาฮ์ วะอินนาอิลัยฮิรอญีอูน"