ประชานิยม คือผลร้าย? นโยบายที่ดี ต้องครบ 3 บรรทัดฐาน “Triple Bottom Line”

สัปดาห์ก่อน ผมได้วิจารณ์ 1 นโยบายเก่า และนำเสนอ 1 นโยบายใหม่ ที่คิดว่ามีประโยชน์กับภาพรวมมากกว่า.. น่าแปลกใจดี ที่มีดราม่าและรถทัวร์ รัวตามมาไม่ขาดสาย ใครผ่านมาแถวนี้ น่าจะคิดว่าที่นี่หมอชิตหรือปล่าว? ..ผมเข้าใจ และพลันเคารพทุกความเห็นดีๆที่เข้ามา และเชื่อว่าทางการเมือง มีคนเห็นด้วย ต้องมีคนเห็นต่างบ้างเป็นธรรมดา ..แต่อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้ทุกคนคำนึงถึงตรงนี้ ก่อนตัดสินว่าผมทำเพื่อตัวเอง โจมตีคู่แข่ง หรือมีจุดมุ่งหมายอะไรกันแน่

.

.

มีทฤษฎีนึงที่ผมระลึกถึง และเป็นแบบอย่าง ในการทำธุรกิจของตัวเองอยู่ตลอด และยังคงยึดถือมั่นเพื่อเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อในไปใช้ประโยชน์กับการทำงานภาครัฐ นั่นคือ "Triple Bottom Line" สามบรรทัดฐานสำคัญ ทฤษฎีจากจอห์น แอลคิงตัน จากหนังสือ "Cannibal with Folks" เมื่อปี 1997 ถ่ายทอดโดย ศาสตารจารย์ แมรี่ แมคไบรด์ ...ที่เชื่อว่านโยบาย-แนวความคิดที่ดี ไม่ใช่คำนึงถึงแค่กำไรเพียงอย่างเดียว ถ้าเปรียบเทียบได้กับทางการเมือง คือการประโคมประชานิยม แจกข้าวแจกของ เอาใจฐานเสียงเพียงอย่างเดียว แล้วจะทำให้กิจการ-ความเจริญของประเทศยั่งยืน ..หากแต่ต้องคำนึงถึงแกนสำคัญทั้ง 3 บรรทัดฐาน (People/ Profit/ Planet) เข้าด้วยกัน เพื่อให้ความเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน และรอบด้าน


▬▬▬


3 บรรทัดฐานสำคัญนั้น ได้แก่


◾ People: ฐานคน


การออกนโยบายใดๆควร คำนึงถึงผลกระทบเชิงสังคม, คุณภาพชีวิตของคน"ส่วนใหญ่"ในประเทศ ไม่ว่าอยุ่ในบริบทของผู้อยู่อาศัย, ผู้บริโภค, นายจ้าง หรือลูกจ้างในระบบ เพราะชีวิตคนต้องมาก่อน


◾ Profit: ฐานเศรษฐกิจ


ฐานทางศรษฐศาสตร์ คือ ทั้งระบบต้องได้เม็ดเงิน ตั้งแต่กลุ่มแรงงาน กลุ่มธุรกิจเอกชนเล็ก-กลาง-ใหญ่ ไปจนถึงรัฐได้รับการจัดเก็บภาษีที่สมน้ำสมเนื้อ สามารถธำรงอยู่ได้ ไม่มีฝ่ายไหนเจ็บตัว


◾ Planet: ฐานธรรมชาติ


ฐานนี้คือแกนสำคัญ ที่ผู้มีอำนาจในไทย ยังไม่ให้ความสำคัญ นโยบายที่ดีนั้นนอกจากช่วยคนจำนวนนึง แต่หากมันเป็นบ่อนทำลายธรรมชาติ ทำให้สภาพโลกร้อน, มลพิษ หรือภาวะโรคใหม่ๆที่โจมตีโลกอย่างต่อเนื่อง ให้มันแย่ไปกว่านี้ ย่อมไม่เป็นนโยบายที่ดีแน่ๆ


▬▬▬▬▬▬



มองภาพกว้าง ทำความเข้าใจทั้งสามแกน ..ไม่ใช่แค่ใครคนนึง ครอบครัวใดครอบครัวนึง บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ประโยชน์ จากการการทำลายสภาพแวดล้อมแบบไม่มองเห็นหัวอนาคตลูกหลาน


ถ้านโยบายใดก็ตาม ที่ส่อให้เกิดความเสียหายในแกนใดแกนนึง ไม่ว่าผู้คน-เศรษฐกิจ-โลก ผมขอค้าน และยืนยันจะค้านหัวชนฝา


เมื่อมองที่ฐานคน.. ถ้าได้ผลประโยชน์จากประชานิยม ของที่แจก แต่ความเจริญในแนวอื่นไม่เกิดผลใดๆ นั่นไม่ใช่การพัฒนาถาวรครับ


เทียบประชานิยมกับความสัมพันธ์หนุ่มสาว คงไม่ต่างจาก การมีโปรโมชั่น ซื้อของแบบใจปล้ำจากคนที่จีบคุณเล่นๆ แต่ไม่ได้อยากคบคุณจริงจัง แล้วก็พังหลอกคุณ


คุณกำลังถูกป้ายยา.. ถูกสินบนจากรัฐ.. ว่ารัฐนั้นๆเค้าได้ช่วยเหลือคุณแล้ว แต่การช่วยเหลือนั้นไม่จีรัง อาจช่วยให้ทำเนาไปได้3-4เดือน แต่ไม่มีอะไรกลับมา

ไม่มีระบบคมนาคมที่ดี.. ไม่มีระบบการศึกษาที่ดีขึ้น.. ไม่มีสาธารณะสุขที่ทำให้คนสุขได้จริงๆ..


อย่าเข้าใจผิดนะครับ ประชานิยมบางครั้งก็ดี ดีในการเยียวยาเฉพาะหน้า.. แต่หลายครั้งคือการลงทุนจากรัฐที่สิ้นเปลือง และไม่ได้อะไรในระยะยาว


ยกตัวอย่าง นโยบายที่ผู้คนได้ประโยชน์ รัฐและเอกชนได้ประโยชน์ ธรรมชาติได้ประโยชน์แบบยั่งยืน


ที่เข้ามาในหัวผมก่อนเลยคือ นโยบายด้านพลังงาน ที่รัฐควรผลักดันภาคอุตสาหกรรม ให้ใช้พลังงานทดแทนที่ดีกว่า ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมกว่า


อย่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV ของไทย ที่สามารถลดการใช้น้ำมันระยะยาว ลดการสร้างฝุ่น PM2.5จากต้นตอสาเหตุเลยทีเดียว


รัฐอาจใช้กรณีศึกษาที่ดีจากประเทศผู้ผลิตชั้นนำ อย่าง ญี่ปุ่น


ที่ภาครัฐนั้นให้เงินสนับสนุนในเรื่องของงานวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมุ่งให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆทั้งเรื่องของโมเดลรถและแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นในเรื่องของ ‘แท่นชาร์จ’ ให้รถทุกยี่ห้อสามารถใช้หัวชาร์จแบบเดียวกันได้


รวมถึงยังมีการให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการลดหรือยกเว้นภาษีจากผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีมาตรการนำรถยนต์ทั่วไปคันเก่า มาแลกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ที่สอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐกำหนดไว้


...


◾ ประชาชนได้ ได้ครอบเครื่องยนต์ EV ในราคาที่ถูกกว่า - ค่าเชื้อเพลิงระยะยาวถูกกว่าค่าน้ำมัน


◾ เศรษฐกิจได้ เพราะการลดภาษี ทำให้รถEVเป็นที่นิยม เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ


◾ ธรรมชาติได้ ลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง - ลดPM 2.5


ความโปร่งใสของนโยบายก็สำคัญ ต้องทำในระบบที่ไม่เอื้อแก่เจ้าใดเจ้าหนึ่ง ยังควรถือโอกาสผลักดันผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพไทย ให้พัฒนารถยนต์ EV แบรนด์ไทยเองขึ้นมา ..ผมเชื่อว่ายุคนี้สมัยนี้แล้ว วิทยาการของไทย ไม่แพ้แต่ละชาติทั่วโลก.. อย่างประเทศจีนที่มีรถยนต์ไฟฟ้า เป็นร้อยแบรนด์ แบรนด์ผู้นำตลาดอย่าง BYD ที่มีเทคโนโลยี Blade Battery แบตเตอรี่ที่ประสิทธิภาพสูงกว่า..ปลอดภัยกว่า แบตเตอรี่ลิเธี่ยมไอออน ที่ใช้กันทั่วไป


หลักการ สามบรรทัดฐานสำคัญ (Triple Bottom Line) กลายเป็นทฤษฎีที่ยอมรับถึงผลประกอบการของกิจการและยืนยันว่า วิสัยทัศน์นโยบายและแนวทางการดำเนินกิจการเป็นแบบกว้างขวาง มีความโปร่งใส ที่สำคัญสามารถตรวจสอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งผลตอบแทนทางสังคม ผลตอบแทนด้านสิ่งแวดล้อมและไม่ขัดหรือแย้งกับผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ด้วย


ย้ำชัดอีกครั้ง นโยบายที่ดี คือการสร้างความเจริญที่ยั่งยืน


มันคือ win-win game ที่ทุกฝ่ายชนะร่วมกัน


..คนส่วนใหญ่ได้ - เศรษฐกิจได้ - ธรรมชาติได้


▬▬

Previous
Previous

"MEDIAVERSE".. สงครามกรอกหู ในยุคสื่อเลือกข้าง

Next
Next

ยืนไว้อาลัย 10ปี"รถคันแรก"... ดันนโยบาย"ธุรกิจแรก" กระตุ้นเศรษฐกิจคนตัวเล็ก